10 จุดต้องตรวจ ก่อนหมดประกันบ้าน 1 ปี
ทำไมต้องตรวจบ้านก่อนหมดประกัน?
ตอนก่อนซื้อเราก็ตรวจบ้านก่อนโอนกันมาแล้วนิ ทำไมยังต้องมีการตรวจบ้าน ก่อนที่จะหมดประกันกับทางโครงการหมู่บ้านจัดสรร กันอีกล่ะ ?
แล้วทำไมต้องเป็น 1 ปี ?
เป็นคำถามที่น่าสนใจ เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้ครับ
โดยปกติแล้วทางโครงการหมู่บ้านจัดสรรจะมีการรับประกันตัวบ้าน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. งานโครงสร้างบ้าน
ส่วนใหญ่แล้วทางโครงการจัดสรร จะ "รับประกันโครงสร้างบ้านที่ 5 - 10 ปี" แล้วแต่โครงการ โดยจะนิยามคำว่า "โครงสร้างบ้าน" คือ เสาเข็ม, คานบ้าน, เสาบ้าน และโครงหลังคา ซึ่งก็คือโครงสร้างงานโยธาทั้งหมดของบ้านนั่นเองครับ
*ทั้งนี้ในทางความรับผิดชอบทางวิศวกรรรมโยธา ด้านการออกแบบ และการควบคุมงานก่อสร้าง จะยังคงอยู่ต่อไปแม้จะเกินระยะเวลาที่โครงการรับประกันโครงสร้างบ้าน ทั้งนี้จะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงที่ตัววิศวกรโยธาท่านนั้นๆ เอง
**ในกรณีที่มีความเสียหายทางโครงสร้างของบ้านเกิดขึ้น โดยจะต้องมีการตรวจสอบว่ามีความบกพร่องในขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างงานโยธา หรือความบกพร่องในการคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง ซึ่งวิศวกรโยธาที่เป็นผู้ออกแบบ หรือผู้คุมงานก่อสร้าง จะยังคงต้องรับผิดชอบ หากตรวจสอบพบว่าเป็นความผิดของตนเองครับ
2. งานที่นอกเหนือจากงานโครงสร้างบ้าน
ซึ่งจะหมายความรวมถึง
- งานสถาปัตย์ เช่น งานสี งานผนัง งานกระเบื้อง
- งานระบบต่างๆ เช่น ระบบน้ำดี - น้ำเสีย, ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบไฟฟ้า
- งานปูกระเบื้องหลังคา
ระยะเวลาการรับประกันของงานเป็นเวลาเท่าไร และมีกฎหมายกำหนดไว้ไหม?
ทั้งนี้ระยะเวลาการรับประกัน และรายละเอียดขึ้นกับโครงการต่างๆ ครับ ว่าจะกำหนดอย่างไร ซึ่งในทางกฎหมายยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนไว้ครับ โดยส่วนใหญ่จะ "รับประกัน 1 ปี ในส่วนงานที่นอกเหนือจากงานโครงสร้างบ้าน"
เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ของบ้าน จะมี "การรับประกันเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้นเอง" ดังนั้นการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน 1 ปี จึงมีความสำคัญ
แล้วมีอะไรที่จำเป็นต้องตรวจบ้าง?
ในที่นี้ทาง Home Check Up ขอสรุปเป็น "10 จุดต้องตรวจ ก่อนหมดประกัน 1 ปี"
1. ปัญหาการรั่วซึมจากหลังคา
ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากครับ ทั้งนี้บ้านที่อยู่มาครบ 1 ปี โดยปกติจะผ่านหน้าฝนมาแล้วหลายเดือนด้วยกัน ดังนั้นการสังเกตดูคราบน้ำที่เกิดจากการรั่วซึม ก็จะเป็นขึ้นตอนที่ง่ายที่สุดที่จะทำได้ (ถ้าจะให้ดี ควรดูตอนนี้มีฝนตก จะสังเกตได้ง่าย)
จากภาพด้านล่าง จะเป็นน้ำรั่วจากดาดฟ้า โดยสามารถตรวจสอบได้ด้วยดูคราบน้ำ หรือใช้ Infrared Camera โดยสังเกตที่ตัวเลขจะแสดงภาพในตำแหน่งเดียวกันที่พบความชื้นจากการรั่วซึมจากดาดฟ้าของบ้าน
2. ปัญหาการรั่วซึมจากพื้นห้องน้ำชั้นบน
เป็นอีกปัญหาที่พบได้ครับ สามารถทำได้ด้วยการขังน้ำที่พื้นห้องน้ำให้ท่วมพื้นห้องน้ำ สูง 1-2 ซม. ประมาณ 30 นาที โดยหาวัสดุมาอุดที่ Floor Drain ที่พื้นห้องน้ำ เช่น ดินน้ำมัน ถุงพลาสติกใส่น้ำ ขวดน้ำ หรือผ้า
ให้สังเกตคราบน้ำที่ฝ้าชั้นล่างว่ามีคราบน้ำ ความชื้นลงมาไหม จะให้ดีถ้ามีกล้อง Infrared ส่องเพื่อวัดอุณภูมิช่วยด้วยจะสังเกตง่ายขึ้นครับ
3. ปัญหาการรั่วซึมจากท่อน้ำดีต่างๆ ภายในบ้าน
สามารถสังเกตได้ด้วยการปิดก๊อกน้ำทั้งหมดภายในบ้าน แล้วไปดูที่มิเตอร์น้ำของ การประปาฯ ที่อยู่หน้าบ้าน ว่าหมุนไหม (บางครั้งยังหมุนได้นะครับ แต่อาจเป็นเพราะว่าน้ำประปาไหลเข้าถังเก็บน้ำภายในบ้านอยู่ครับ ต้องรอให้ถังเก็บน้ำเต็มก่อน ค่อยมาสังเกตอีกทีครับ)
และให้สังเกตุว่าปั๊มน้ำต้องไม่ทำงาน เพราะเราไม่ได้ใช้งานน้ำภายในบ้านแล้วครับ
4. ตรวจสอบถังบำบัดน้ำเสีย และบ่อดักไขมัน
โดยให้สังเกตระบบน้ำในถังจะต้องอยู่บริเวณ ท้องท่อขาออกของถัง ถ้าระดับต่ำกว่านั้น ให้ลองเติมน้ำ และรอสักพัก ระดับน้ำจะต้องไม่ลดต่ำลงไปจากท้องท่อขาออกของถังบำบัดน้ำเสีย หรือบ่อดักไขมัน
5. พื้นโรงจอดรถ
เนื่องจากพื้นโรงจอดรถมีหลายรูปแบบในการก่อสร้าง
- แบบ On beam คือวางบนคานบ้าน ซึ่งพื้นจอดรถในลักษณะนี้จะไม่ทรุด
- แบบ On ground ซึ่งพื้นแบบนี้จะวางบนพื้น ก็จะทรุดได้ตามลักษณะพื้นดินบริเวณนั้นๆ
ทั้งนี้ถ้าทรุดมากจะปัญหาการขับรถขึ้นจอดให้ทำการแจ้งให้โครงการปรับระดับพื้นให้ใหม่ อ่านต่อเรื่องพื้นโรงจอดรถทรุด
6. งานสี งานผนัง
ส่วนใหญ่จะเป็นสีหลุดร่อน สีด่าง หรือรอยแตกร้าวผิวปูนฉาบตามผนัง ที่ไม่มีอันตรายทางโครงสร้างบ้าน แก้ไขด้วยการเก็บสีใหม่เท่านั้น
ทั้งนี้สีผนังบ้านรอบนอก บริเวณที่ติดกับพื้นดิน จะพบบ่อยว่ามีการพองเนื่องจากความชื้นที่ขึ้นมาจากดินรอบบ้านครับ ซึ่งแม้จะแก้ไขไปแล้วในครั้งนี้ ก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ครับ
7. งานโครงสร้างบ้าน
ให้สังเกตรอยร้าวที่เสา คาน และผนัง โดยต้องเป็นรอยร้าวที่มีขนาดกว้าง ซึ่งอาจเป็นรอยร้าวที่มีผลทางโครงสร้างหลักของบ้านได้ครับ ถ้ามีรอยร้าวที่มีความกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วยแล้ว จะยิ่งมีโอกาสเป็นอันตรายได้
*ทั้งนี้ควรรีบให้วิศวกรโยธาที่ใบประกอบวิชาชีพ เป็นผู้ตรวจสอบให้เพื่อความปลอดภัยครับ
8. ปัญหาไฟฟ้ารั่ว
ให้ปิดการใช้งานไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด ทั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง โดยปิดดวงไฟทั้งหมด, ระบบปลั๊กไฟฟ้า โดยดึงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าออกให้หมด แล้วไปสังเกตที่มิเตอร์ไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฯ หน้าบ้านว่ามิเตอร์ไฟฟ้าทำงานไหม จานในมิเตอร์หมุนไหม ทั้งนี้เมื่อไม่มีการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มิเตอร์จะต้องไม่หมุน แต่ถ้ากรณีมิเตอร์ดังกล่าวหมุนอาจมีปัญหาไฟฟ้ารั่วได้ (ทั้งนี้อาจมีอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างที่ลืมถอดก็ได้นะครับ อาจต้องตรวจสอบว่าครบจริงทุกอุปกรณ์แล้ว)
9. ตรวจสอบการทำงานของ Breaker กันไฟฟ้าดูด
ทั้งนี้ Breaker กันดูดจะมีปุ่มให้กดทดสอบการทำงานของระบบกันไฟฟ้ารั่ว โดยเมื่อกดที่ปุ่มทดสอบแล้ว breaker จะตัดไฟทันที ซึ่งหมายความว่าใช้งานได้ดี
จากรูปภาพจะเป็นปุ่มที่มีตัวอักษร "T" ซึ่งจะเป็นปุ่มทดสอบการทำงานของ breaker กันไฟดูดครับ
10. ตรวจสอบการต่อสายที่ Ground Rod
กรณีโครงการมีการทำช่อง service ของ ground rod ไว้ ให้เปิดดูว่าสายไฟที่ต่อกับ ground rod ยังติดอยู่ ทั้งนี้แนะนำว่าอย่าจับสายไฟ และ ground rod เนื่องจากหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วมาที่สายเมน Ground ของบ้าน อาจทำอันตรายได้ครับ
อ่านต่อเรื่องการต่อ Ground ที่ถูกต้อง
*หมายเหตุ งานระบบไฟฟ้าในข้อ 8 -10 ควรให้ผู้เชี่ยวชาญในงานไฟฟ้า เช่น วิศวกรไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบให้ครับ เพื่อความปลอดภัย
ชัยพฤกษ์ บางนา กม. 15 (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน เดอะ ธาม ราชพฤกษ์ สิรินธร (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน Villaggio ศรีนครินทร์ (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน คุณาลัย พรีม บางบัวทอง (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน มัณฑนา westgate (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน ศุภาลัย วิลล์ รังสิต คลอง2 (ครบปีประกัน)
ตรวจรับบ้าน Centro ราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ (ครบปีประกัน)
สนใจบริการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน
Facebook : Homecheckup
LineID : @homecheckup
Tel : 085-481-3536 (คุณกานต์)