วางแผนการติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน ทำไงดี? (EV charger installation)

"วางแผนการติดตั้งแท่นชาร์จ EV ที่บ้าน ทำไงดี?"

สวัสดีครับ วันนี้เรามาเจอกันอีกแล้วนะครับ วันนี้จะขอพูดถึง การติดตั้งแท่นชาร์จ EV ที่บ้านทำยังไงดี เพื่อนๆหลายคน คงให้ความสนใจรถยนต์ทางเลือกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันบ้านเราที่แพงขึ้นทุกๆวัน คงทำให้เพื่อนๆ คงอดไม่ได้ที่อยากจะเป็นเจ้าของ เพราะจากที่มีการรีวิวพูดกันปากต่อปากว่าค่าไฟที่ใช้กับค่าน้ำมัน เมื่อเทียบกันสามารถประหยัดได้มากกว่าประมาณ 3 เท่าตัว แต่ก่อนจะตัดสินใจจองซื้อรถ EV ก็อยากให้เพื่อนๆ คำนึงถึงการติดตั้งแท่นชาร์จ EV ที่บ้าน และข้อควรระวังมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ

ข้อดีของรถยนต์EVนอกจากจะช่วยประหยัดทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันแล้ว เครื่องยนต์ยังทำงานเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถชาร์จไฟได้จากที่บ้านด้วย

เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มี 3 ประเภท

  • Normal Charge หรือ AC Charge : เป็นการชาร์จจากเต้ารับในบ้านโดยตรง ใช้เวลาประมาณ 12-16 ชั่วโมง ก่อนติดตั้งควรเช็กปริมาณการใช้ไฟในบ้านร่วมกับเครื่องชาร์จไฟก่อนว่า ระบบไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่รองรับการใช้งานได้หรือไม่
  • Doble Speed Charge : ชาร์จด้วย Wall Box การชาร์จไฟกระแสสลับผ่านตัวแปลงไฟ ใช้เวลาประมาณ 4-7 ชั่วโมง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความจุแบตเตอรี่และรุ่นของรถด้วยเช่นกัน
  • Quick Charge : การชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้าตรง สามารถชาร์จแบตเตอรีได้ในเวลาอันรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 40-60 นาที เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสถานีชาร์จไฟนอกบ้าน เช่น ห้างสรรพสินค้าและจุดแวะพักรถต่าง ๆ

วิธีติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ EV ที่บ้าน 

1. ขนาดมิเตอร์ไฟ

ถ้ามิเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า 30 แอมป์ (30/100) เช่น 5 แอมป์ หรือ 15 แอมป์ ควรแจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้มีขนาดตั้งแต่ 30 แอมป์ขึ้นไป หรือถ้าเป็นมิเตอร์ 3 เฟส ก็ควรใช้ขนาด 15/45 เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณการใช้ไฟในบ้านที่มากขึ้น แต่การพิจารณาว่าจะใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ก็ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้งควบคู่กันไปด้วย

2. ขนาดสายไฟเมน

หลังจากเช็กมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ก็ต่อด้วยการเช็กขนาดสายไฟเมน หรือขนาดสายไฟที่เชื่อมมายังตู้ควบคุม หากยังเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร (ตร.มม.) ซึ่งเป็นขนาดหน้าของสายหริอขนาดของสายทองแดงนั่นเอง รวมไปถึงเช็กตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ควรใช้ตู้ที่สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ด้วย

3. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB)

โดยดูว่ามีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker หรือไม่ เพราะการติดตั้งที่ชาร์จรถ EV จะต้องแยกช่องจ่ายไฟออกไปต่างหาก และช่องว่างนั้นควรมีขนาดตามพิกัดที่สามารถรองรับกระแสไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย

ทั้งนี้ เวลาสร้างบ้านแล้วมีการติดตั้งตู้ประเภทนี้ควรมีช่องเหลือไว้ เช่น หากจำเป็นต้องใช้ 6 ช่อง ก็ควรเลือกตู้แบบ 10 ช่อง ให้มีเหลือไว้อีก 4 ช่อง เผื่อติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายหลัง ก็จะได้สามารถมาติดช่องเพิ่มได้

4. เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RDC

เครื่องตัดไฟรั่ว (Residual Current Device หรือ RDC) ไว้สำหรับตัดวงจรเมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรรวมไปถึงไฟไหม้ได้ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดี ควรมีระบบตัดไฟอย่างน้อย RCD Type B หรือเทียบเท่า แต่ในกรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายอัตโนมัติ ก็ไม่จำเป็นจะต้องติดตั้งเครื่องชนิดนี้เพิ่มก็ได้

5. เต้ารับ

เต้ารับที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV จะไม่เหมือนเต้ารับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน การเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าควรใช้แบบ 3 รู และใช้หลักดินแยกออกจากหลักดินของระบบไฟในบ้าน โดยสายต่อหลักดินรถ EV ควรเป็นสายหุ้มฉนวน มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดินควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร ตามมาตรฐาน และการต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อด้วยความร้อน

สำหรับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบพกพา นอกจากการใช้เต้ารับแบบ 3 รูแล้ว ควรทนกระแสไฟได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 แอมป์ด้วย และในส่วนของเครื่องชาร์จไฟที่มีอุปกรณ์ IC-CPD (In3Cable Control and Protection Device) ควรเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 2911 หรือ IEC 62752 ส่วนเครื่องชาร์จแบบติดผนัง (Wall Mounted Charger) ก็ควรได้รับมาตรฐาน มอก. 61851 หรือ IEC 61851 เช่นเดียวกัน

6. เช็กตำแหน่งก่อนติดตั้ง

ก่อนจะติดตั้งเต้ารับแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าควรเช็กตำแหน่งที่จะติดตั้งด้วยว่า ระยะห่างเหมาะสมกับความยาวของชาร์จหรือไม่ เพราะระยะความยาวของสายชาร์จส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 เมตร และตำแหน่งที่ติดตั้งควรอยู่ในที่ร่ม สามารถป้องกันแดด-ป้องกันฝนได้ แม้ว่าตัวเต้ารับจะเป็นรุ่นที่ระบุว่าไว้ภายนอกบ้านได้ก็ตาม

ข้อควรระวังการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน 

  • ก่อนติดตั้งควรพิจารณาปริมาณการใช้ไฟฟ้าเดิมของบ้านและเครื่องชาร์จเสียก่อน หากปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมกันแล้ว เกินกว่าพิกัดของ MCB และมิเตอร์ไฟ ก็ควรเปลี่ยนระบบไฟฟ้าก่อน โดยขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ผ่านหน่วยงานการไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้าสูง
  • ไม่ควรนำสายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบพกพาไปเสียบกับเต้ารับที่มีอยู่เดิมในบ้าน หากระบบไฟฟ้าเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
  • ควรเดินระบบไฟฟ้าของที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแยกออกจากระบบไฟฟ้าภายในบ้าน และทำโดยช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญ

สำหรับที่มีรถยนต์ไฟฟ้าหรือกำลังจะซื้อรถ EV มาใช้ และอยากจะมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ที่บ้านเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเติมพลังงานแล้วละก็ อย่าลืมเช็ก 6 จุดสำคัญที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทรัพย์สินในบ้าน

ขอขอบคุณข้อมูลการติดตั้งแท่นชาร์จ EV : การไฟฟ้านครหลวง

Message us
error: Content is protected !!