"รอยร้าวอันตราย มีลักษณะอย่างไร?"
หลายๆ ท่านที่ซื้อบ้าน คอนโด ใหม่อาจจะเคยเจอปัญหากวนใจที่เรียกว่า "รอยร้าว" รู้หรือไม่ว่ารอยร้าวแต่ละแบบนั้นสามารถบอกปัญหาได้ แต่มีปัญหาอะไรนั้น ทางเรารวบรวม 10 รอยร้าวแบบไม่อันตรายและแบบอันตราย ดังนี้
1. รอยร้าวขอบประตูหน้าต่าง
รอยร้าวขอบประตูหน้าต่างเป็นหนึ่งในจุดที่พบบ่อย เนื่องจากบริเวณวงกบประตูหน้าต่างนั้นมีแรงดึงสูงมาก ทำให้เกิดการกระจายแรงของผิวปูนที่ฉาบไว้ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดรอยร้าวบริเวณขอบประตูหน้าต่าง รอยร้าวที่ขอบประตูหน้าต่างไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่ตามมามีเพียงแค่น้ำรั่วซึมเท่านั้น
วิธีการแก้ไข คือ รอยร้าวไม่เป็นขนาดใหญ่ให้ใช้ซิลิโคนมาอุด แต่ถ้ารอยร้าวมีขนาดใหญ่ให้ทำการรื้อประตู หรือหน้าต่างออก และทำการติดตั้งใหม่ให้ถูกวิธี
2. รอยร้าวที่เสา
รอยร้าวที่เสาที่เป็นรอยร้าวแตกลึก รอยร้าวแบบนี้จะเห็นได้ชัดและทำให้เสาเสียรูปทรงอย่างชัดเจน การเกิดรอยร้าวที่เสาในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากการคำนวณขนาดของเสาเพื่อรับน้ำหนักผิดพลาด ทำให้เสารับน้ำหนักเกินจนคอนกรีตกะเทาะออกมา รอยร้าวในลักษณะนี้จัดว่า "เป็นรอยร้าวที่มีอันตรายมาก!!! "
วิธีการแก้ไข คือ ควรรีบปรึกษาวิศวกรโดยด่วน ไม่ควรแก้ไขด้วยตนเอง หรือใช้ช่างทั่วไปที่ไม่เชี่ยวชาญมาแก้ไขได้โดยเด็ดขาด
3. รอยร้าวแบบแตกลายงา
รอยร้าวแบบแตกลายงา นั้นถือว่าพบได้แทบทุกบ้าน ไม่ใช่รอยร้าวอันตราย ส่วนมากพบภายนอกบ้าน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากโครงสร้างของบ้าน แต่เกิดจากผสมปูนฉาบที่ไม่ได้สัดส่วน ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปปูนเจอกับอุณหภูมิระหว่างกลางวัน และกลางคืนปูนจึงหดตัวลงผนังบ้านจึงเกิดรอยร้าวแบบแตกลายงา
วิธีแก้ไข คือ ใช้ปูนแต่งผิวฉาบบาง ๆ ประมาณสองรอบจนปิดรอยแตกได้สนิท จากนั้นก็ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบแล้วทาสีให้เรียบร้อย
4. รอยร้าวแนวดิ่ง
รอยร้าวแนวดิ่งบริเวณกลางผนัง ส่วนมากจะเป็นรอยร้าวที่เกิดจากด้านบนลงล่าง เป็นรอยร้าวที่อยู่ตรงกลางผนัง ซึ่งรอยร้าวในรูปแบบนี้เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักด้านบนมากเกินไป จึงส่งผลให้เกิดรอยร้าวแนวดิ่ง มีความอันตรายอยู่เช่นกัน
วิธีการแก้ไข คือ สังเกตดูชั้นบนเหนือรอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นมีสิ่งของที่หนักวางอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้ย้ายไปวางไว้ที่อื่นเพื่อให้คานไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกิน แล้วก็ทำการซ่อมแซมรอยร้าว แต่ทั้งนี้ควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อเสริมคานให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้นจะดีกว่า
5. รอยร้าวแนวทแยงมุม
รอยร้าวแนวทแยงมุมเป็นรอยร้าวที่ "อันตรายมาก" อีกอย่างหนึ่ง คือ บ้านมีการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันที่ฐานรากของบ้าน ธรรมชาติของบ้านจะทรุดตัวลงอยู่แล้ว แต่เป็นการทรุดลงตรงๆ แบบเท่ากัน การที่เกิดรอยร้าวแบบทแยงมุมนั้นหมายความว่าฐานรากของบ้านด้านใดด้านหนึ่งนั้นมีการทรุดตัวมากกว่าอีกด้าน
วิธีการแก้ไข คือ ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่สามารถแก้ไขได้เอง
6. รอยร้าวรูปตัวยู
รอยร้าวรูปตัวยู เป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ท้องคาน มีความอันตรายคล้ายกับรอยร้าวแนวดิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คานนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป หรือคำนวณการรับน้ำหนักของคานผิดพลาด เมื่อตัวคานได้รับน้ำหนักที่มากเกินไปทับลงมาจึงเกิดรอยร้าวในลักษณะแอ่นเป็นรูปตัวยูใต้ท้องคาน
วิธีการแก้ไข คือ นำสิ่งของที่มีน้ำหนักออกให้หมด แล้วดูว่ามีการร้าวเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ทั้งนี้ควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อเสริมคานให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้เอง
7. รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคาน
รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคาน จะมีลักษณะเฉียงจากเสาขึ้นไปหาคาน รอยร้าวชนิดนี้เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากเกินไป และเป็นรอยร้าวที่มี "อันตรายร้ายแรงมาก!!! "
วิธีการแก้ไข คือ ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่สามารถแก้ไขได้เอง และย้ายออกจากบ้านหลังนั้นให้เร็วที่สุด เพราะอาจเกิดการถล่มของตัวอาคารได้ และเพื่อความปลอดภัยควรซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนจึงจะกลับเข้ามาอาศัยได้อีกครั้ง
8. รอยแตกร้าวบนพื้น
รอยแตกร้าวบนพื้นก็ "อันตราย" เช่นกัน เป็นรอยร้าวที่อยู่บนพื้นโดยขนานไปกับตัวผนัง รอยร้าวลักษณะนี้เกิดจากการทรุดตัวของฐานรากที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอันตรายกับโครงสร้างบ้าน เนื่องจากเสาเข็มในฝั่งที่ไม่ทรุดตัวถูกดึงให้ออกจากตำแหน่งเดิม
วิธีการแก้ไข คือ เมื่อมีรอยแตกร้าวบนพื้น ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่สามารถแก้ไขได้เอง
9. รอยร้าวบนเพดาน
รอยร้าวบนเพดาน เป็นการร้าวจากกึ่งกลางเข้าไปหาเสาทั้งสี่ต้น เป็นรอยร้าวที่อันตราย ซึ่งรอยร้าวแบบนี้เกิดขึ้นจากเสาและคานรับน้ำหนักมากเกินไป มักเกิดกับบ้านที่ไม่มีคานกลางมารองรับน้ำหนักของเพดาน ใช้เพียงเหล็กเสริมแรงสองทางเป็นตัวรับน้ำหนัก
วิธีการแก้ไข คือ เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักออกไปให้หมด ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่สามารถแก้ไขได้เอง
10. รอยร้าวกลางคาน
รอยร้าวกลางคาน เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากจนเกินไป เป็นรอยร้าวที่ "อันตรายมาก" เพราะในกรณีที่ร้ายแรง บ้านสามารถแยกออกจากกันเป็นสองส่วนได้เลย
วิธีการแก้ไข คือ ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่สามารถแก้ไขได้เอง
จากบทความนี้ รอยร้าวในลักษณะต่างๆ มีทั้งแบบไม่อันตรายและอันตราย สำหรับรอยร้าวที่ไม่อันตราย เจ้าของบ้านสามารถซ่อมได้เองโดยที่ไม่ต้องจ้างช่าง แต่หากพบรอยร้าวที่มองดูแล้วจะเป็นอันตราย ควรรีบปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทันที และรีบแก้ไขให้เรียบร้อย เพื่อให้บ้านที่อยู่อาศัยอยู่กับเราไปนานๆ และยังคงแข็งแรง
สนใจบริการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน
Facebook : @homecheckup
LineID : @homecheckup
Tel : 085-481-3536 (คุณกานต์)