“ห้องน้ำผู้สูงอายุ เป็นอย่างไร?”
วันนี้ Home Check Up จะขอนำสาระดีๆ เกี่ยวกับการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความแตกต่างจากการออกแบบห้องน้ำแบบธรรมดาภายในบ้าน ที่ไม่เอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ จนนำมาซึ่งอุบัติเหตุภายและอันตรายในห้องน้ำได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับ ผู้สูงอายุภายในครอบครัว โครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ จึงเริ่มมีการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ มาดูกันว่าเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับห้องน้ำผู้สูงอายุมีเรื่องใดบ้าง และควรมีอุปกรณ์ใดบ้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยไร้กังวล
1. ระดับพื้นภายในควรเท่ากับพื้นภายนอก
พื้นห้องน้ำผู้สูงอายุควรมีระดับพื้นภายใน และภายนอกเป็นระดับเดียวกัน ไม่ลาดเอียง หรือต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดล้มจากพื้นที่ต่างระดับกัน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กรณีใช้ Wheel Chair อีกด้วย
โดยจะออกแบบใช้รางระบายน้ำบริเวณประตูห้องน้ำ และอาจติดตั้งเพิ่มเพื่อกันน้ำล้นจาก ส่วนเปียก และส่วนแห้ง แทนการลดระดับพื้น หรือทำขอบปูนให้สูงขึ้น
2. ขนาดห้องน้ำผู้สูงอายุ
พื้นที่ภายในห้องน้ำควรมีความกว้างอย่างน้อย 1.5x2 เมตร เพื่อให้รถเข็นสามารถหมุนกลับตัวได้สะดวก ทั้งนี้หากพื้นที่ภายในห้องน้ำกว้างมากเกินไปอาจเป็นภาระให้ผู้สูงอายุต้องเดินมากขึ้น
3. ขนาดประตูห้องน้ำผู้สูงอายุ
เพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นขนาดประตูห้องน้ำกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร
ข้อแนะนำ : ควรเลือกใช้ประตูบานเลื่อน หรือบานประตูเปิดออก ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหากผู้สูงอายุล้มและนอนขวางอยู่บริเวณหน้าประตู ผู้ที่อยู่นอกห้องจะไม่สามารถเปิดเข้าไปช่วยเหลือได้ ในส่วนของด้ามจับประตูควรเป็นแบบก้านโยกที่เปิดง่ายไม่ต้องออกแรงมาก และมีการติดราวจับช่วยทรงตัวด้านข้าง
4. พื้นห้องน้ำผู้สูงอายุ
ห้องน้ำผู้สูงอายุควรมีการปูพื้นห้องน้ำด้วยกระเบื้องเนื้อหยาบ หรือกระเบื้องกันลื่น มีค่าความฝืดที่เหมาะกับพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้ง ไม่ควรใช้กระเบื้องที่มันหรือลื่นเกินไป นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดพื้นของห้องน้ำผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและป้องกันการเกิดตะไคร่ที่ทำให้พื้นห้องน้ำผู้สูงอายุลื่นได้ หรืออาจเปลี่ยนสีหรือลายที่แตกต่างสำหรับโซนเปียกโซนแห้ง เพื่อให้เห็นได้ชัดป้องกันการลื่นล้มหรือสะดุดล้ม
ข้อแนะนำ : "น้ำยากันพื้นลื่น ตราจระเข้" สูตรสำหรับพื้นเซรามิก ลดการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ที่มีคุณสมบัติช่วยลดความลื่นของพื้นผิว และปลอดภัยต่อการใช้งานด้วยส่วนผสมที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง ช่วยป้องกันการลื่นล้มขณะใช้งานภายในห้องน้ำหรือบริเวณพื้นที่ที่เปียกชื้นได้ง่าย
5. ไฟและแสงสว่าง
บริเวณหน้าห้องน้ำผู้สูงอายุและภายในห้องน้ำผู้สูงอายุควรมีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ เพราะลักษณะการใช้งานภายในห้องน้ำจำเป็นต้องหยิบจับของใช้จำเป็นต่างๆ และเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม ดังนั้นจึงควรจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ โดยเลือกใช้แสงสีขาวจะมองเห็นได้ชัดเจนมากกว่าแสงชนิดอื่น
6. มีราวจับช่วยพยุงตัว
ราวจับพยุงตัวช่วยให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดีป้องกันการล้ม ข้อสำคัญควรมีราวจับทุกจุดที่มีการนั่ง-ลุกยืนและเดินในห้องน้ำ
7. อุปกรณ์ในห้องน้ำ
แนะนำควรเลือกแบบที่ใช้งานง่ายสะดวกเช่น
- ม้านั่งอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าและวาล์วเปิดปิดน้ำควรใช้แบบก้านปัด เพื่อความสะดวกในการเปิดปิด
- เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าแบบลบมุมมน ป้องกันอันตรายจากการชนหรือล้มกระแทก
- อ่างล้างหน้าควรเป็นแบบขอบโค้งเว้าให้รถเข็นใช้งานได้สะดวก
- มีพนักแขนช่วยพยุงตัว
- ฝักบัวและสายฉีดชำระแบบปรับแรงดันได้
- ที่ใส่กระดาษทิชชูที่สามารถเปลี่ยนกระดาษทิชชูได้ง่าย
8. โถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำผู้สูงอายุ
โถสุขภัณฑ์ในห้องน้ำผู้สูงอายุควรเป็นชักโครกที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43-45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สูงอายุสามารถลุกนั่งได้อย่างสะดวกตัวโถสุขภัณฑ์ควรมีความแข็งแรงรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการโยกเอนหรือล้ม และติดตั้งให้แน่น บริเวณโถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำผู้สูงอายุควรมีราวทรงตัวอยู่ด้านข้าง ซึ่งอาจมีฝั่งเดียวหรือทั้งสองฝั่งก็ได้ สายฉีดภายในห้องน้ำผู้สูงอายุควรติดตั้งไว้ด้านข้างโถสุขภัณฑ์ เพื่อให้หยิบใช้ง่ายและสามารถปรับระดับแรงดันได้ นอกจากนี้ควรติดสัญญาณฉุกเฉินไว้ข้างชักโครกด้วย
9. ตรวจสอบระดับความสูงของอุปกรณ์ต่างๆ
ตรวจสอบระดับความสูงของอุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ เช่น
- ระดับฝักบัวควรมีก้านปรับระดับ
- ราวแขวนผ้าระดับติดตั้งความสูงสำหรับการใช้งานบนรถเข็น ก่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ
10. ติดตั้งสัญญาณฉุกเฉิน
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในห้องน้ำผู้สูงอายุ คือ สัญญาณฉุกเฉิน เพื่อให้คนภายนอกสามารถรับรู้สัญญาณและเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยการติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินบริเวณที่ใช้งานง่าย อาจติดไว้บริเวณข้างสุขภัณฑ์ หรือบริเวณที่อาบน้ำ
หากติดตั้งครบถ้วนตามนี้ก็สบายใจหายห่วงได้ครับ เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึงและอุบัติเหตุภายในห้องน้ำของผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับห้องน้ำผู้สูงอายุตามเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันไม่ให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุซึ่งเป็นบุคลลอันเป็นที่รักของเราได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที
สนใจบริการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน
Facebook : @homecheckup
LineID : @homecheckup
Tel : 085-481-3536 (คุณกานต์)