4 ทางเลือก สำหรับบ้านเก่าไม่มีสายดิน
ทำอย่างไร สำหรับบ้านเก่า ที่ไม่มีสายดิน และหลักดิน (Ground Rod) ?
เนื่องจากการติดตั้งของช่างไฟฟ้าในอดีตยังไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับสายดินกันสักเท่าไหร โดยสายดินมีส่วนสำคัญในด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการกระแสไฟฟ้ารั่วจากอุปกรณ์ไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายของผู้อยู่อาศัยซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ 2 อย่างในระบบไฟฟ้า ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เราได้ คือ สายดิน และเครื่องกันไฟดูด
1. สายดิน
สายดิน คือ สายที่เดินไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดแล้วได้รับอันตราย อันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายลงสู่ดิน โดยปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต่อเข้ากับหลักดิน (Ground Rod) ที่ปักลงดินตามมาตรฐานการไฟฟ้าฯ
ประโยชน์ของสายดิน คือ
- ป้องกันไฟฟ้าดูดเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ป้องกันหากเกิดแรงดันผิดปกติขึ้นในระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ฟ้าผ่า
- เพื่อการทำงานที่สมบูรณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
2. เครื่องกันไฟดูด
เครื่องกันไฟดูด หรือ เครื่องตัดไฟรั่ว คือ เครื่องที่ทำหน้าที่ตัดไฟในกรณีที่พบว่ากระแสไฟฟ้าบางส่วนรั่วหายไป โดยมาตรฐานจะกำหนดที่ 30 mA ของกระแสที่หายไฟ แล้วเครื่องกันไฟดูดจะตัววงจรทันที
เครื่องกันไฟดูด มีประโยชน์ อย่างไร
- ป้องกันอันตรายจากไฟดูด ไฟรั่วไหลผ่านร่างกาย
- ป้องกันอัคคีภัย ในกรณีที่มีไฟรั่วลงดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้าเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้
โดยทั้ง 2 อุปกรณ์จะทำงานร่วมกัน ดังนี้
กรณีมีไฟรั่วที่โครงอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น | ติดตั้งเครื่องกันไฟดูด | ไม่ติดตั้งเครื่องกันไฟดูด |
---|---|---|
มีสายดิน | เครื่องกันไฟดูดจะตัดทันทีโดยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถูกดูด | ไฟที่รั่วจะลงไปที่สายดิน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถูกดูด |
ไม่มีสายดิน | เครื่องกันไฟดูดจะตัด หลังจากผู้ใช้ไฟฟ้าถูกดูดก่อน | ไฟที่รั่วจะผ่านร่างกายผู้ใช้ไฟฟ้าลงดิน และเบรคเกอร์กันกระแสไฟเกินไม่ตัด |
โดยสรุปจากตาราง จะเห็นได้ว่า "ตัดก่อนดูด" เป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือมีทั้งสายดิน และเครื่องกันไฟดูด หรืออย่างน้อยก็ควรมี 1 อย่าง ไม่สายดิน ก็เครื่องกันไฟดูด (แต่แนะนำว่าควรมีทั้งคู่)
มาถึง "4 ทางเลือก สำหรับบ้านเก่าที่ไม่มีทั้งสายดิน และเครื่องกันไฟฟ้าดูด"
ทั้งนี้ในกรณีระบบไฟฟ้าในบ้านเก่าที่ในปัจจุบัน ไม่มีทั้งระบบสายดิน และเครื่องกันไฟดูด ทางวิศวกรไฟฟ้าจาก Home Check Up ขอนำ 4 ทางเลือกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยตามตารางดังนี้
ลำดับ | วิธีการ | ค่าใช้จ่าย | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | เปลี่ยนเบรคเกอร์เมนเป็นแบบกันไฟฟ้าดูด และกันไฟฟ้ารั่ว | ราคาประมาณ 5000 บาทต่อตัว | วงจรแอร์อาจจะตัดบ่อยๆ เนื่องจากอาจมีความชื้นเวลาแอร์ทำงานได้ |
2 | ติดตั้งเบรคเกอร์ย่อย แบบกันไฟฟ้าดูด และกันไฟฟ้ารั่ว (RCBO) ที่วงจรที่ต้องการ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น และเต้ารับไฟฟ้า | ราคาประมาณ 2000 บาท ต่อตัว | ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าข้อ 1 โดยจะขึ้นกับจำนวนวงจรย่อยที่ต้องการติดตั้ง |
3 | เปลี่ยนเฉพาะตู้เมนไฟฟ้าเป็นแบบที่รองรับการติดตั้งสายกราวด์ พร้อมติดตั้งหลักดิน และเดินสายกราวด์ไปยังวงจรที่ต้องการ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น และเต้ารับไฟฟ้า | ราคาขึ้นกับยี่ห้อ และขนาดตู้เมนไฟฟ้า และชนิดของหลักดิน | ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าข้อ 2 |
4 | เปลี่ยนสายไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า และเบรคเกอร์ใหม่ทั้งหมด | ขึ้นกับขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้าน และอาคาร | มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุด แต่เหมาะสม และปลอดภัยที่สุด |
โดยจากทั้ง 4 แนวทาง ได้เรียงตามลำดับ ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ จากถูกมาสู่แพงตามลำดับ ไว้เรียบร้อยแล้ว ลองเลือกกันดูตามงบประมาณที่มีครับ (แต่ยังคงแนะนำให้เดินระบบไฟฟ้าใหม่นะครับ เพราะบ้านเก่ามากแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ก็เริ่มหมดอายุการใช้งานละครับ)
*หมายเหตุ ราคาอุปกรณ์ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด / ราคาที่ระบุเป็นราคาโดยประมาณ และไม่ได้รวมค่าแรง
ขอยกตัวอย่างการออกแบบวงจรไฟฟ้าที่มีการใช้งานเครื่องกันไฟดูดมาให้ดูกันครับ
ทั้งนี้ภายในตู้เมนไฟฟ้าจะมีการติดตั้งสายดินอยู่ด้วย เพื่อทำงานร่วมกันแบบ "ตัดก่อนดูด"
10 จุดต้องตรวจ ก่อนหมดประกันบ้าน 1 ปี
ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน ด้วยตัวเอง EP1
ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน ด้วยตัวเอง EP2
สนใจบริการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน
Facebook : Homecheckup
LineID : @homecheckup
IG : homecheckup.ig
Tel : 085-481-3536 (คุณกานต์)