ก่อนจะถึงบทความนี้ คิดว่าเพื่อนๆ คงอ่านบทก่อนหน้ามาบ้างแล้ว และคงพอทราบว่าเราจะออกแบบห้องน้ำ และครัว โดยผู้ชำนาญเฉพาะด้านที่มีให้บริการที่ห้างวัสดุก่อสร้างดังๆ
ส่วนห้องอื่นๆ ของบ้าน เช่นห้องโถง ห้อง นอน ฯลฯ ก็เป็นหน้าที่ของ สถาปนิก ที่บริษัทรับสร้างบ้านครับ ปกติแต่ละบริษัทฯ จะมีบริการนี้ให้อยู่ (อาจเป็น full time หรือ part time ก็แล้วแต่กรณี) หรือบางคนที่จ้างจากภายนอกก็น่าจะได้ แต่คงต้องจัดการเรื่องการประสานงานกันให้ดี
ส่วนค่าบริการ ทางบริษัทฯ ก็ต้องคุยดูครับ ส่วนใหญ่น่าจะไม่กี่หมื่น (ของผม รู้สึกว่า 1 หมื่นบาท) พี่เค้าจะช่วยเราออกแบบการวางเฟอร์นิเจอร์ห้องต่างๆ ในบ้าน ก็ลองพูดคุยกันดู
ว่าแต่ว่า เพื่อนๆ บางคนอาจจะบอกว่าผมเว่อร์ไปหรือเปล่า บางคนอาจมีความสามารถในการออกแบบเอง หรือ บางคนอาจแค่ ego สูง … สำหรับผมแล้ว ผมว่ามันคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มครับ มาดูกันว่า ในความคิดผมมันคุ้มยังไง
1. เรื่องการเลือกสีทาภายนอก และภายในบ้าน
สีที่ใช้ทาภายนอก และภายในบ้าน เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ในการทำให้บ้านแสนรัก จะออกมาดูดีเพียงใด ลำพังแค่ดู shade สีใน catalogue เมื่อนำมาทาที่ผนังบ้านจริงๆ มักจะไม่ได้อย่างที่คิดหวังครับ โดยปกติก็จะรู้สึกว่ามันเข้มกว่าที่เห็นใน catalogue ประมาณหนึ่งระดับ สาเหตุอาจเป็นเพราะความเพียนของสีที่จัดพิมพ์ใน catalogue ที่แจกอาจจะใช้สีที่มีคุณภาพไม่ดีพอ และเวลาทาที่ผนังจริงๆ ก็ทาสองรอบ หรือบางทีอาจมากกว่านี้ (เพราะมีการเก็บรอยต่างๆ …. หลายรอบเกินไปก็ไม่ดีนะครับ อาจเป็นสาเหตุให้หลุดลอกก็ได้)
อ่านเพิ่ม ที่ http://pantip.com/topic/30840609 แล้วกันครับ
ทั้งหมดนี้ สถาปนิก เค้าทราบครับว่าควรจะเลือกสีอย่างไรให้เข้ากับ lifestyle และทรงบ้าน ของเพื่อนๆ ได้ครับ ไม่งั้นบ้านจะออกมาดูแล้วไม่สมราคาหลายล้านบาทที่ลงทุนไปแน่นอน
อีกอย่างครับ พยายามอย่าใช้สีผสมเลย ถ้าไม่จำเป็น เพราะมักจะจำไม่ได้ว่าผสมสัดส่วนแบบไหน แม้ว่าจะเทียบกับสีที่ผนังบ้านเลย ก็อาจไม่ตรงนะครับ ถ้าไม่ทราบสัดส่วนจริงๆ (อีกอย่างสีที่ทาไปแล้ว ก็จะค่อยๆ จืดไป ไม่เหมือนเดิม เวลาเทียบจะยิ่งยากครับ)
ถ้าใช้สีใน catalogue สีที่มี ก็ให้จดไว้นะครับว่าใช้สียี่ห้ออะไร เบอร์อะไร และควรเก็บ catalogue นั้นไว้ด้วยครับ เผื่อต้องซื้อสีมาซ่อมแซมบ้าน
2. ให้ สถาปนิก/ มัณฑนากร ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไปพร้อมๆ กันเลย ว่าส่วนไหนใช้ built-in furniture หรือบางส่วนซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบทำสำเร็จมา โดยเพื่อนๆ สามารถใช้เป็นแนวความคิดในการเลือกซื้อ/ทำ ทีหลังได้ (ซึ่งอาจไม่ต้องการจ้างบริษัทฯ เพื่อทำในตอนนี้เลย) เช่น ตำแหน่งวางตู้โชว์ และตู้ควรเป็นลักษณะไหน บริเวณใดควรวางทีวี ฯลฯ ก็ดูตาม function ของบ้านเพื่อนๆ
3. ช่วยจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง เช่น ความสูงของเคาน์เตอร์รวมกับอ่างล้างหน้าในห้องน้ำ ไม่ควรเกิน 80 – 90 ซม. (ประมาณไม่เกินสะดือ หรือข้อศอก) ไม่งั้นเวลาใช้งานจะไม่สะดวก เพราะไม่เข้ากับสรีระของคนไทย หรือความสูงของสวิทช์เปิด-ปิดไฟ ก็จะประมาณ 1.20 เมตร เป็นต้น
4. สุดท้าย จากผลของทั้ง 3 ข้อข้างต้น จะทำให้เพื่อนๆ สามารถประหยัดเงินในการสร้างบ้านได้ครับ ว่าแต่ประหยัดอย่างไร มาดูตัวอย่างกัน
จากภาพเป็นแบบปลั๊กเต้าเสียบชั้นล่าง ซึ่งถ้านับจำนวนเต้าเสียบที่มีภายในบ้านทั้งหมด จะได้เท่ากับ 10 ตำแหน่ง (โดยนับที่เป็นสัญลักษณ์วงกลมที่มีเครื่องหมายเท่ากับขีดทับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเต้าเสียบ) ครับ แต่ถ้าแบบบ้านนี้ไม่ได้ออกแบบภายในมาก่อน โดยปกติก็จะวางตำแหน่งเต้าเสียบไว้ทุกมุมห้อง (เผื่อเอาไว้ว่าจะได้ใช้) ก็จะได้ตำแหน่งเต้าเสียบเพิ่ม (จุดสีแดง) อีก 3 ตำแหน่ง รวมเป็น 13 ตำแหน่ง คิดเป็น 30 % เลยทีเดียวในกรณีนี้ (ลองจินตนาการครับว่า มีชั้นบนอีก และยังมีไฟส่องสว่าง ฯลฯ ที่ยังไม่ได้นำมาคิด)
ก็ไม่ทุกกรณีที่จะราคาถูกลงนะครับ เพราะว่าบางทีเมื่อออกแบบแล้วอาจมีการใส่เพิ่มตามแบบอีกมากก็ได้ แต่ว่ายังดีกว่าเพิ่งรู้ และไปเพิ่มเติมตอนกำลังก่อสร้างครับ (เพราะราคาจะแพงมาก) หรือยิ่งกว่านั้นถ้าไปทำเพิ่มเติมตอนที่บ้านเสร็จแล้วยิ่งแพงไปกันใหญ่ (เพราะต้องรื้อกันยกใหญ่) และบ้านก็ช้ำด้วยครับ
ข้อดีอีกข้อจากการที่มีการออกแบบที่ดีก่อนสร้าง คือ สมมติว่าตามแบบจะมีการทำตู้ built-in ที่บริเวณที่มีจุดสีแดงด้านบนซ้าย งานในส่วน built-in ก็ต้องเจาะรูที่ตู้เพื่อให้สามารถใช้งานเต้ารับได้ (ยุ่งยากและไม่สวยด้วยครับ)
ดังนั้นในความเห็นของผม ผมว่าจ้างมัณฑนากร หรือสถาปนิก คุ้มค่ามากครับ