3 วิธี การแก้ไขพื้นจอดรถทรุดตัว ทำอย่างไร?

ทำไม พื้นจอดรถทรุดตัว ?

ปัญหาพื้นจอดรถทรุดตัว เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และแก้ไขไม่ยากหากวางแผนมาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบงานก่อสร้าง

สาเหตุของปัญหา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับ ว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่วางบนพื้นดิน ทรุดตัวด้วยกันทั้งนั้นครับ แต่จะทรุดมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับว่ามีการออกแบบโครงสร้างการรับน้ำหนักเป็นอย่างไร เช่น

  • บ้านที่ก่อสร้างบนเสาเข็มที่มีขนาดยาวจนถึงชั้นดินแข็งในพื้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งมีความลึกประมาณ 18-21 เมตร จะมีอัตราการทรุดตัวที่ต่ำ เพราะเสาเข็มลงไปลึกถึงขั้นดินแข็งด้านล่าง ซึ่งมีการทรุดตัวน้อยมากๆ

บ้านที่ตอกเข็มยาวถึงชึ้นดินแข็ง (ภาพสมมติ) ตัวอย่างบ้านที่ตอกเข็มยาวถึงชั้นดินแข็ง

  • พื้นโรงจอดรถของบ้านในหมู่บ้านจัดสรร โดยส่วนใหญ่จะใช้แบบ พื้นแบบวางบนพื้นดิน (slab on ground) โดยการปรับดินเดิมให้แน่น และเทปูนพื้นที่จอดรถเลย ทำให้การรับน้ำหนักไปอยู่บนดินเป็นหลัก จึงมีการทรุดตัวมากกว่าโครงสร้างของบ้านที่มีเสาเข็มยาวรับแรง

ดังนั้น พื้นโรงจอดรถจะทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้าน เป็นปกติให้เห็นกัน เมื่ออยู่ไปได้สักพัก ยิ่งเมื่อมีการจอดรถยนต์ที่มีน้ำหนักเป็นตันต่อคัน ก็ยิ่งจะทำให้พื้นจอดรถทรุดตัวเร็วขึ้นไปอีก โดยสรุปแล้วปัญหามันเกิดจากการที่ตัวบ้าน และพื้นที่จอดรถยนต์ มีอัตราการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน ทำให้ดูเหมือนวันที่จอดรถทรุดจนเห็นรอยแตกตามขอบที่ติดตั้งตัวบ้าน

วิธีแก้ไขปัญหาทำได้ 3 วิธี ดังนี้

1.พื้นแบบวางบนคาน (slab on beam)

ในขั้นตอนออกแบบก่อสร้างบ้าน ต้องวางโครงสร้างให้พื้นจอดรถยนต์ เป็นพื้นแบบวางบนคาน (Slab on beam) แทนที่จะวางบนพื้นดิน วิธีนี้ทำให้พื้นที่จอดรถยนต์ จะมีอัตราการทรุดตัวเหมือนพื้นบ้านนั่นเองครับ เพราะว่าใช้โครงสร้างรับน้ำหนักเป็นเสาเข็มความยาวเดียวกับตัวบ้านแล้ว

ข้อดี จะไม่มีรอยแตกแยกอีก เพราะพื้นที่จอดรถ และตัวบ้าน ทรุดตัวด้วยอัตราที่เท่ากัน เช่น ปีละ 1 ซม. จึงทำให้ไม่มีการแตกร้าวครับ เพราะทรุดลงไปทั้งบ้าน และพื้นที่จอดรถ

ข้อเสีย คือ ต้องออกแบบเผื่อน้ำหนักของพื้นที่จอดรถเพิ่ม ทำให้สิ้นเปลืองค่าโครงสร้าง เช่น เสาเข็ม ฐานราก และ คาน มากขึ้น

ทั้งนี้ พื้นส่วนที่อยู่นอกพื้นที่จอดรถยนต์ที่ออกแบบเป็นพื้นแบบวางบนคาน (Slab on beam) ก็จะทรุดตัวตามปกติ ซึ่งมากกว่าตัวบ้านและพื้นที่จอดรถ ทำให้ยังคงเห็นรอยแยก แตกร้าวได้ แต่สามารถรอให้ทรุดเยอะๆ ค่อยมาแก้ครับ ไม่กระทบมากนัก เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่า จะต้องเกิดขึ้น

2. การตอกเข็มสั้นปูพรมเป็นฐานรากเพื่อรับน้ำหนัก

การตอกเข็มสั้นปูพรมก่อนเทปูนพื้นที่จอดรถ โดยปกติจะตอกเข็มสั้นความยาว 3-5 เมตร ปูพรมไปทั่วบริเวณที่ระยะห่างแต่ละต้น 1 เมตร เพื่อช่วยรับน้ำหนักพื้นและรถยนต์ที่จะมาจอดในอนาคต

ข้อดี ทำให้อัตราการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถ น้อยกว่า การที่ไม่มีเข็มสั้นมาช่วยรับน้ำหนัก

ข้อเสีย ยังไงก็ยังเห็นรอยแตกแยกของพื้นที่จอดรถ กับตัวบ้าน ได้อยู่ดี

และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา โดยเป็นค่าเข็ม และค่ากดเข็ม ประมาณต้นละ 600 - 1,000 บาท ขึ้นกับปริมาณเข็ม ความยาวเข็ม และความยากง่ายในการทำงาน โดยรวมๆ ก็มีเป็นหลักหมื่นบาทได้ครับ

3. พื้นแบบวางบนพื้นดิน (slab on ground)

โดยการปรับดินให้แน่น และเทปูนบนที่จอดรถยนต์บนดินเดิมไปเลย  วิธีนี้จะไม่มีการกดเข็มสั้น ดังนั้นน้ำหนักทั้งหมดของพื้นที่จอดรถ และรถยนต์ที่จอด จะกระจายลงที่พื้นดินไปทั้งหมด

ข้อดี ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ซึ่งเป็นแบบที่โครงการหมู่บ้านจัดสรร มักออกแบบให้กับลูกค้า

ข้อเสีย อัตราการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถ จะเร็วที่สุดใน 3 แบบที่กล่าวมา

โดยสรุป สามารถเลือกได้ทั้ง 3 วิธีครับ ขึ้นกับกำลังทรัพย์ และสภาพจริงหน้างานว่ามีการก่อสร้างไปแล้วหรือยัง โดยถ้าซื้อบ้านโครงการจัดสรร คงเลือกอะไรไม่ได้มากนัก แต่เราต้องเข้าใจครับ เพื่อจะได้วางแนวทางการแก้ไขที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคตได้

แนวทางการแก้ไขรอยแตกแยกพื้นที่จอดรถกับตัวบ้าน

ทั้งนี้รอยต่อของพื้นที่จอดรถในแบบที่ 2 และ 3 ควรที่จะแยกไม่ให้พื้นที่จอดรถติดกับตัวบ้าน เป็นระยะประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วใส่วัสดุ เช่น โฟมเข้าไปในช่องดังกล่าวตอนเทพื้นคอนกรีต เพื่อแยกโครงสร้างให้ชัดเจน และป้องกันการทรุดตัวแล้วทำให้ผนังบ้านหลุดแตกออกมาด้วย โดยช่วงว่างระหว่างพื้นที่จอดรถ และบ้าน สามารถตบแต่งให้สวยงานด้วยทราย กรวด หินแม่น้ำ หรือยางมะตอย (ตามรูป)

โดยเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี พื้นที่จอดรถจะทรุดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทางเจ้าของบ้านสามารถแก้ไขด้วยการเทพื้นปรับระดับใหม่ และตบแต่งให้สวยงามตามเดิม จากประสบการณ์ส่วนตัว การทำแบบนี้ 1-2 ครั้ง พื้นดินใต้ที่จอดรถจะแน่นมากขึ้นทำให้อัตราการทรุดตัวต่ำลงไปเองครับ ดังนั้นการเทปรับระดับในครั้งต่อๆไป ก็จะยาวนานขึ้นครับ

กรณีศึกษาจากรูป ที่จอดรถยนต์บ้านหลังนี้ ทำพื้นแบบวางบนคาน (slab on beam) บริเวณวงสีเขียว และทำพื้นแบบวางบนพื้นดิน (slab on ground) บริเวณที่ต่อเนื่องออกไปที่รั้วบ้าน ดังน้ันพื้นที่สีเขียวจะไม่ทรุดเพราะถ่ายน้ำหนักพื้นที่จอดรถยนต์ไปที่คานของบ้าน ส่วนพื้นที่สีแดงจะทรุดตามดินเดิม ดังนั้นทางโครงการจึงตัด joint ที่รอยต่อของ พื้นสีเขียว และพื้นสีแดง เพื่อไม่ให้มีรอยแตกร้าวบริเวณรอยต่อ แต่ในระยะยาวสิ่งทีจะเกิดขึ้นคือ พื้นสีแดงจะทรุดตัวเร็วกว่าพื้นสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากทางโครงการได้ออกแบบโครงสร้างมาไว้แบบนั้นครับ

การแก้ไขเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ปี ก็ให้เทพื้นบริเวณสีแดงใหม่ เพื่อปรับระดับครับ หรือจะปูกระเบื้องปรับระดับไปเลยก็ได้ครับ

 

Download=> Check list ตรวจรับบ้าน คอนโด  (สำหรับคอนโด ใช้ part B ก็พอครับ)

เพื่อให้งานตรวจรับบ้าน และคอนโด ก่อนโอน ด้วยตัวเอง สะดวกยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าครบครับ มีทั้ง แบบฟอร์มตรวจเอง อย่างง่าย และเนื้อหาอธิบายวิธีการตรวจรับแบบครบๆ ไปเลยครับ

ถ้าไม่สะดวกตรวจรับบ้าน คอนโด ด้วยตัวเอง ทาง Home Check Up ยินดีให้บริการครับ

สนใจตรวจรับบ้าน และคอนโด
Facebook : Homecheckup
LineID     : @homecheckup
IG             : homecheckup_
Tel            : 085-481-3536 (คุณกานต์)

Message us
error: Content is protected !!